ตอนที่ 22 – ขอบคุณ… ซุปเปอร์แมน
การทำงานขุดดินลึก ในการก่อสร้างระบบฐานรากในดินกรุงเทพฯ สมัยก่อนนี้ (พ.ศ. 2516) เป็นงานค่อนข้างยาก เพราะเครื่องมือ ยังไม่ดีเท่าสมัยนี้ Backhoe ก้านยาวไม่มี เข็มพืดกันดินพัง ก็ยังไม่ค่อยมีแพร่หลาย และไม่มีให้เช่าเหมือนในปัจจุบัน งานขุดเพื่อก่อสร้างห้องใต้ดินลึกๆ สมัยนั้นก็มีธนาคารศรีนคร จำกัด สำนักงานใหญ่ที่สวนมะลิ อาคารราชดำริอาเขต (ซึ่งรื้อไปแล้ว) และอาคารแอสแคป เท่านั้น
คนที่ไม่เคยทำงานขุดดินลึกเกิน 2.00 เมตร ก็มักจะคิดว่า . . . เมื่อขุดดินลึกต้องมีปัญหาเรื่องน้ำใต้ดิน ซึ่งคงจะมาจากน้ำในดินนั่นเอง แต่สำหรับงานขุดดินลึกในกรุงเทพฯ จะไม่เป็นอย่างนั้น เพราะภูมิประเทศของกรุงเทพฯ เป็นดินเหนียว ซึ่งมีความทึบน้ำดีมาก กล่าวคือ ไม่ยอมให้น้ำไหลผ่านง่ายๆ นั่นเอง ดังนั้น แม้จะมีน้ำอยู่ใต้ดินเท่าไร เช่น 20% หรือแม้แต่ 50% ก็ตาม เมื่อขุดดินออกไป น้ำส่วนที่อยู่ในดินนั้น ก็จะติดดินตามไปด้วย น้ำที่มาใหม่ก็จะซึมมาได้ยาก แต่ถ้าเป็นดินทราย คือ มีน้ำอยู่ในดินปนทราย เมื่อขุดดินออกไปก็จะได้แต่ดินทราย น้ำจะไม่ถูกขุดออกไปด้วยและน้ำใต้ดินก็จะไหลมาแทนที่ได้ง่าย
ปัจจุบันความรู้เรื่องนี้ดีขึ้นมาก แม้กระนั้นก็ตามปัญหาเรื่องการป้องกันดินพังระหว่างการขุด ก็ยังต้องระมัดระวังเป็นอย่างยิ่ง เพราะนอกจากจะทำให้เกิดความเสียหายต่อโครงการของตนเองแล้ว ยังจะก่อให้เกิดความเสียหายต่ออาคารข้างเคียงได้มากด้วย รัฐบาลได้ตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดีจากปัญหา ที่เกิดขึ้นเสมอๆ ในช่วงเศรษฐกิจฟองสบู่ (พ.ศ. 2530 ? 2540) จึงได้มีการตราพระราชบัญญัติการขุดดินขึ้นและประกาศใช้ในปี 2543
ช่วงขุดดินที่ลึกที่สุด . . . ในการสร้างห้องใต้ดิน ของอาคารเลขาธิการสหประชาชาติ ที่ถนนราชดำเนินนอกนั้น จะต้องขุดลึกประมาณ 6 เมตร ต้องใช้ Sheet Pile ลึกประมาณ 12 เมตร และมีการค้ำยันเป็นช่วงๆ ประมาณ 2 ชั้น แต่ก็ไม่ได้มีการคำนวณ หรือเสนอวิธีการทำงานเป็นเรื่องเป็นราวมากนัก ดังนั้นเมื่อขุดถึงระดับ ก็พบว่าเข็มผิดศูนย์จำนวนมาก ซึ่งอนุมานได้ว่าเป็นผล เนื่องมาจากการขุดดินและเข็มตอกผิดอยู่แล้วด้วย เพราะส่วนที่ไม่ได้ขุดดินก็ตอกผิดศูนย์มากเช่นกัน จึงต้องมีการเจาะเข็มแซมหลายต้น หลังจากทำเข็มเจาะเสร็จ ปรากฏว่ามีดินโคลนอยู่เป็นจำนวนมาก อันเนื่องจากการก่อสร้างเข็มเจาะระบบ INSTRUTION PREPAKT ปริมาณรวมแล้ว มีความสูงถึง 60 ซ.ม. บ่อที่ขุดนี้กว้างประมาณ 16 x 28 ตารางเมตร ดินโคลนที่มีนี้ จำเป็นที่จะต้องนำขึ้น ซึ่งผมได้ทดลองใช้หลายๆ วิธีในการที่จะนำโคลนขึ้นมาจากบ่อที่ลึกประมาณ 6.00 เมตรนี้ ปรากฏว่าทำให้เสียเวลามาก จะใช้สายพานลำเลียงก็ทำไม่ได้ เพราะดินมีสภาพเป็นเลนไหลกลับลงไปหมด
สุดท้าย . . . ผมนึกถึง ก า ร์ ตู น ชุ ด ซุ ป เ ป อ ร์ แ ม น ได้ เลยลองเลียนแบบดู คือ ใช้วิธีเอาปูนซีเมนต์ลงไปคลุกกับโคลนในปริมาณ 6?10% ปรากฏว่าได้ผลครับ… โคลนกลายเป็นดินซีเมนต์แข็งพอควร จากนั้นจึงนำขึ้นจากบ่อที่ขุดได้โดยไม่ยาก ในทางวิชาการก็คือ การทำดินซีเมนต์ แต่ปริมาณน้ำมากไปหน่อยนั่นเอง . .