Skip to main content

ตอนที่ 14 – ลาก่อนกัปตันโอตะ


ผมคงโชคดีหรือยังไงไม่ทราบที่ได้มีโอกาสทำงานขนาดใหญ่เสมอ ๆ และทำงานจบจนทุกงาน แม้ออกมาตั้งบริษัทเองแล้วก็ยังต้องกลับไปช่วยงานที่ทำค้างอยู่จนเสร็จงานที่ได้รับมอบหมาย ผู้ใหญ่บอกว่าที่ผมโชคดีเสมอนี้เป็นเพราะผมไม่เคยลืมบุญคุณของอาจารย์ที่ได้ประสิทธิ์ประสาทวิชาและประสบการณ์ให้

โครงการออกแบบและก่อสร้างท่าเรือน้ำลึกแหลมฉบัง เป็นโครงการระดับชาติอีกโครงการหนึ่งที่ผมได้มีโอกาสทำหน้าที่เป็นผู้จัดการโครงการร่วมร่วมกับที่ปรึกษาจากประเทศญี่ปุ่น ในขณะนั้นประเทศไทยมีพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นผู้นำประเทศ ท่านที่คนที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกลมาก ท่านได้ส่งเสริมให้วิศวกรไทยได้มีบทบาทในโครงการขนาดใหญ่ทุกโครงการโดยตั้งเป็นนโยบายว่า ถึงแม้วิศวกรไทยจะทำงานนั้นๆ ไม่ได้ ก็ควรจะให้โอกาสในการมีส่วนร่วมเรียนรู้และรับการถ่ายโอนเทคโนโลยีไว้ทุกๆ โครงการในฐานะ Counterpart

กุศโลบายนี้ บางครั้งอาจจะไม่ได้รับการถ่ายทอดมายังผู้บริหารระดับสูงในปัจจุบันอย่างครบถ้วน และแม้แต่ตัววิศวกรเองหลายคนก็ไม่เข้าใจกุศโลบายที่ว่านี้เช่นกัน ดังนั้นเมื่อเขาได้มีโอกาสทำงานร่วมกับที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ วิศวกรเหล่านั้นจึงทำตัวเป็นเพียง ?ผู้ส่งเอกสาร? เท่านั้น ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเสีย-ดายเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้พลาดโอกาสที่สำคัญเช่นนั้นไป

หน่วยงานที่น่าชื่นชมเป็นอย่างมากที่สนองรับนโยบายดังกล่าวและปฏิบัติตามได้อย่างดี มีตัวอย่างที่ผมได้สัมผัสและขอเอ่ยนามไว้ ณ ที่นี้คือ องค์การรถไฟฟ้ามหานคร วิธีการที่หัวหน้าหน่วยงานทำอย่างง่ายๆ คือ ให้โอกาสช่างเทคนิคและวิศวกรไทยได้ทำงานอย่างสมศักดิ์ศรีและมีส่วนร่วมในงานอย่างจริงจัง ไม่ใช่ทำแค่ในนาม หรือเป็นเพียงผู้ลงชื่อรับผิดชอบเท่านั้น ถ้าลงไปชมงานขุดอุโมงค์จะเห็นว่า คนบังคับเครื่องหัวขุดเจาะและใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมหัวเจาะเป็นคนไทยเกือบทั้งนั้น เป็นเรื่องน่าสรรเสริญมาก

ช่วงที่ผมทำงานร่วมกับญี่ปุ่นในโครงการแหลมฉบังช่วงแรกๆ ไม่ค่อยได้รับการยอมรับเท่าไรนัก แต่ผมก็ได้แสดงบทบาทของผู้จัดการโครงการร่วมอย่างเต็มที่ และขอเป็นผู้นำเสนองานต่อเจ้าของงานเอง แรก ๆ เจ้าของงานก็ไม่ค่อยเห็นด้วย แต่ผมได้ชี้แจงเหตุผลให้ทราบว่า ต้องทำ… เพื่อแสดงให้เห็นว่าการถ่ายโอนเทคโนโลยีได้ผล คนไทยสามารถนำเสนอเองได้ เมื่อเป็นที่เข้าใจกันดีแล้วญี่ปุ่นก็สอนงานผมมากพอจนเป็นผู้นำเสนอเองได้ ทั้งๆ ที่ผมไม่เคยมีประสบการณ์งานท่าเรือน้ำลึกเลย เพราะประเทศไทยไม่เคยมีการสร้างท่าเรือน้ำลึกเช่นนี้มาก่อน

ช่วงทำงานออกแบบคณะของเราได้ว่าจ้างกัปตันเรือจริงๆ มา 1 คน เพื่อให้เป็นผู้ให้คำแนะนำและเสนอแนะในแบบที่เราทำเสร็จแล้ว ซึ่งเราวิเคราะห์ทั้งการคำนวณเชิงคณิตศาสตร์ การจำลองสภาพท่าเรือจริง โดยย่อส่วนให้เล็กลง แล้วทำการทดลองในห้องทดลอง และจำลองสภาพการนำเรือเข้าเทียบท่าด้วย Real Time Computer Simulator แล้วก็ให้กัปตันเรือจริงๆ ให้คำแนะนำด้วย กัปตันคนนี้มีชื่อว่า กัปตันโอตะ ครับ…

ช่วงเสร็จภารกิจมีการเลี้ยงอำลาที่บ้านผู้จัดการโครงการ ผมได้รับเชิญไปด้วยในฐานะผู้จัดการโครงการร่วม ในการอำลาอย่างเป็นพิธีการนั้น เขาให้ผู้จัดการโครงการนั่งเก้าอี้ แล้วกัปตันโอตะก็เข้าไปคุกเข่าคารวะอำลาแบบญี่ปุ่น ซึ่งกับตันโอตะได้ให้เกียรติอย่างสูงแก่ผม โดยให้ผมขึ้นไปนั่งคู่กับนายของเขาด้วย ผมพยายามบ่ายเบี่ยง แต่เขาก็ไม่ยินยอม โดยอ้างว่าผมก็ทำหน้าที่ผู้จัดการโครงการร่วม ซึ่งก็เปรียบเสมือนนายคนหนึ่งของเขาด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อจะต้องมีพิธีการอำลา ผมก็ควรจะได้รับการปฏิบัติเช่นเดียวกับนายของเขาเหมือนๆ กัน ซึ่งทำให้ผมทึ่งในระเบียบวินัยของเขาจนมาบัดนี้ซ า โ ย น า ร ะ กั ป ตั น โ อ ต ะ !!!