ตอนที่ 25 – เจ้าเมืองปัญญาอ่อน?
ผมเคยเล่าในเรื่องก่อนๆ แล้วว่า งานก่อสร้างของ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สำนักงานใหญ่ ถนนสีลม มีการแยกสัญญาจ้างมากที่สุดและเป็นงานที่เริ่มระบบการบริหารแบบใช้ CM for fee เป็นยุคแรกๆ กล่าวคือ วิศวกรที่ปรึกษาทำหน้าที่ทั้งผู้ควบคุมการก่อสร้างและผู้จัดการงานก่อสร้าง ไปด้วยพร้อมๆ กัน โดยเป็นคนละกลุ่มกับผู้ออกแบบ ถ้าให้แยกสัญญาหมด และเจ้าของซื้อของเองด้วย เจ้าของก็เป็นผู้รับเหมาใหญ่เสียเองนั่นแหละครับ…
สัญญาจ้างยุคแรกๆ ที่จัดระบบแบบนี้ ยังไม่ค่อยชัดเจนเท่าไรนัก ในสัญญาที่ว่านี้จะระบุให้ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารเป็นผู้ประสานงานเท่านั้น ไม่ได้มีการระบุความหมาย ขอบเขต และหน้าที่ของการประสานงานไว้อย่างชัดเจนเช่นสัญญาที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งตารางหน้าที่ในการประสานงานนั้น ผมได้เขียนขึ้นเมื่อครั้งเป็นวิศวกรที่ปรึกษาของอาคารสำนักงานใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด ที่ถนนพระราม 1 และปัจจุบันได้ใช้กันอย่างแพร่หลาย และได้พิมพ์เผยแพร่ในเอกสารวิชาการของสมาคมวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ แล้วด้วย
เมื่อไม่มีการระบุขอบเขตและหน้าที่ไว้อย่างชัดเจน ก็เกิดปัญหาขึ้นมากมายว่า อะไรคือ การประสานงาน อะไรคือการทำงาน และค่าใช้จ่ายในการประสานงานนั้นผู้รับเหมาอาคารจะคิดเอากับใคร คือ ใครเป็นผู้จ่ายนั่นเอง ซึ่งถ้าระบุไว้ตั้งแต่แรก ผู้รับเหมาก่อสร้างอาคารก็รู้แต่แรกแล้วว่า ต้องทำอะไรบ้าง จึงคิดราคาไว้ถูกต้อง และไม่ต้องมาเสียเวลาโต้เถียงกันระหว่างการก่อสร้าง ซึ่งอาจจะทำให้งานต้องล่าช้าได้
ดังได้กล่าวไว้ในตอนต้นแล้วว่า ในโครงการดังกล่าวขอบเขตของการประสานงานไม่ชัดเจน จึงทำให้มีปัญหามาก เมื่อถึงคราวที่จะต้องตกแต่งชั้นที่ผู้ใหญ่ทำงาน ก็มีผู้รับเหมาตกแต่งภายในเข้ามาอีก ปัญหาก็ยิ่งเพิ่มขึ้น วันหนึ่งได้มีการถกเถียงกันเรื่องลำดับขั้นการทำงานก่อนหลังและไม่สามารถตกลงกันได้ หัวหน้าพิพัฒน์ซึ่งเป็นตัวแทนของเจ้าของโครงการก็เลยให้จัดประชุมใหญ่ โดยให้ผมเป็นผู้ดำเนินการประชุม ซึ่งได้กำหนดหัวข้อการประชุมอยู่เพียงหัวข้อเดียวว่า จะจัดการกับเรื่องนี้อย่างไรเท่านั้น
ระหว่างรอการประชุมให้ครบองค์ หัวหน้าให้ผมหาเรื่องมาเล่าเพื่อฆ่าเวลาไปพลางๆ ก่อน ผมก็เล่าเรื่องหนังจีนที่มีพระเอกชื่อ จางจินเป่า ซึ่งฮิตมากในขณะนั้น เรื่องก็มีอยู่ว่า ทหารคนสนิทของเจ้าเมืองเมืองหนึ่งมีความเห็นที่ขัดแย้งกัน แล้วตกลงกันไม่ได้ เจ้าเมืองก็ตัดสินแบบปัญญาอ่อน โดยให้คนสนิททั้ง 2 ฝ่าย เอาหมามากัดกัน หมาของใครชนะก็เอาความเห็นของคนนั้นเป็นข้อยุติ ก็เป็นการแก้ปัญหาแบบง่ายๆ แต่ได้ผลดี การแก้ปัญหาแบบนี้ไม่ได้เป็นที่ยอมรับทุกครั้ง เพราะทหารบางคนไม่ได้เลี้ยงหมา หรือบางคนหมาของตนก็ไม่เก่ง เลยต้องหันมาใช้การกัดจิ้งหรีดแทนในบางครั้ง…
พอผมเล่าจบ ก็พอดีครบองค์ประชุม หัวหน้าพิพัฒน์จึงถามความเห็นของที่ประชุมว่า เรื่องที่จะประชุมกันนี้ จะเอาหมาหรือจิ้งหรีดดีครับ…? ผู้เข้าประชุมต่างมองหน้ากันอยู่ครู่หนึ่ง แล้วก็ตกลงกันว่าไม่ต้องประชุม เพราะทุกคนเข้าใจกันดีแล้ว ที่ประชุมเลยมีมติให้คุณประสงค์… เป็นหัวหน้าสั่งการได้เลย
ผมเลยต้องใช้วิชาที่เคยเป็นผู้รับเหมาอาคารมาก่อนจัดการ โดยปรับให้ทุกคนมีทัศนคติตรงกันก่อนว่า ได้ลงเรือลำเดียวกัน… เท่านั้นเรื่องก็จบลงด้วยดีครับ…
หลังจากเสร็จงานแล้ว ยังมีการทำโล่ที่ระลึกแจกกันคนละอันด้วย ซึ่งเมื่อหักค่าใช้จ่ายของแต่ละส่วนงานแล้ว ยังเหลือเงินบริจาคให้มูลนิธิการกุศลอีกด้วยครับ…