(Human right& Fair Employment)

PPS ให้ความสำคัญต่อการเคารพสิทธิมนุษยชน เราปฏิบัติต่อพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ผู้รับเหมา ชุมชนหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบในกระบวนการทำงานทุกคนอย่างเป็นธรรมและเท่าเทียมตามหลักจริยธรรมและจรรยาบรรณที่ดี ให้ความเคารพต่อสิทธิมนุษยชนและสิทธิเสรีภาพของพนักงาน คำนึงถึงการคัดเลือกและจ้างงานอย่างเป็นธรรม คือ ให้การปฏิบัติที่เท่าเทียมกันไม่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติ สีผิว ศาสนา เพศ ภาษา ชาติกำเนิด เข้าใจในความแตกต่างทั้งด้านการศึกษา วัฒนธรรม ความคิดทางการเมือง ไม่เลือกปฏิบัติและไม่บังคับให้พนักงานทำงานโดยปราศจากความสมัครใจ ไม่ใช้แรงงานเด็ก และไม่ใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย ให้ความเท่าเทียมต่อผู้มีอุปสรรคทางด้านร่างกาย นอกจากนี้ด้านการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลของพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ผู้รับเหมา หรือผู้ที่เกี่วข้องทางธุรกิจจะได้ทำได้ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากเจ้าของข้อมูลก่อน ให้ความใส่ใจในการดูแลคู่ค้า ชุมชน สังคม ด้วยความเป็นธรรม คำนึงถึงความปลอดภัยและคุณภาพชีวิตของทุกคน โดยได้ประกาศเป็นนโยบายสิทธิมนุษยชนเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติแก่คณะกรรมการ ผู้บริหาร และพนักงานของบริษัทฯ ทุกระดับ

กลไกในการเปิดรับข้อมูลการแสดงความคิดเห็น และข้อร้องเรียนต่อการละเมิดด้านสิทธิมนุษยชน

Inbox Facebook Fanpage : PPS Group
Tel :  02 718 2785 
Website :  https://pps.co.th/whistleblower
Email : [email protected] หรือ [email protected]

ส่งเอกสารผ่านกล่องรับฟังความคิดเห็นบริเวณรอบโครงการก่อสร้าง

จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน PPS ยังไม่เคยเกิดกรณีร้องเรียนจากการไม่เคารพและละเมิดสิทธิมนุษยชน ไม่มีการจ้างงานที่ผิดกฎหมายหรือไม่เป็นธรรม และไม่มีข้อร้องเรียนที่เกิดจากการเลือกปฏิบัติต่อพนักงาน

จากการประเมินความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนของบริษัทฯ รวมถึงคู่ค้าในการทำธุรกิจ พบว่า พื้นที่โครงการที่มีการดำเนินงานของบริษัทฯ มีระดับความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ในระดับต่ำถึงระดับปานกลาง โดยบริษัทฯ ได้จัดทำแนวทางการบริหารและควบคุมเพื่อบรรเทาความเสี่ยงด้านสิทธิมนุษยชน ดังนี้

ประเมินความเสี่ยงทางด้านสิทธิมนุษยชนของคู่ค้า

        บริษัทฯ จัดให้มีการประเมินด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลที่ดี (ESG) ผ่านการประเมินตนเองของลูกค้า เพื่อใช้เป็นการพิจารณาประกอบการคัดเลือกผู้ร่วมทำงานเบื้องต้น นอกจากนี้ในการประเมินผลการปฏิบัติงาน บริษัทฯ ได้จัดให้มีการประเมินความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG และสิทธิมนุษยชน เช่น การจ้างงาน การปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง การจัดการด้านความปลอดภัย และการควบคุมผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปี 2565 พบว่า คู่ค้าทางธุรกิจของบริษัทฯ มีความเสี่ยงในด้านดังกล่าวอยู่ในระดับต่ำถึงปานกลาง และยังไม่เคยเกิดกรณีทางกฎหมาย หรือข้อร้องเรียนในโครงการที่บริษัทฯ และคู่ค้าได้ดำเนินงานร่วมกัน อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ จัดให้มีมาตรฐานการคัดเลือกคู่ค้าที่ครอบคลุมประเด็นด้าน ESG พร้อมทั้งมีการติดตามผลการปฏิบัติงานของคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง โดยจัดทำทะเบียนรายชื่อคู่ค้า และประเมินผลการปฏิบัติงานของคู่ค้าเป็นรายปี โดยหากเกิดกรณีที่คู่ค้าได้รับการประเมินจากคณะทำงานเบื้องต้นว่ามีความเสี่ยงด้าน ESG หรือด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ในระดับสูง หรือได้รับผลการประเมินการปฏิบัติงานในระดับต่ำ บริษัทฯ จะพิจารณามอบหมายให้ผู้ตรวจสอบคุณภาพภายใน (IQA) เข้าไปตรวจสอบและประเมินผลอีกครั้ง รวมถึงให้คำแนะนำเพื่อการปรับปรุงตามมาตรฐานการดำเนินงาน และติดตามผลเพื่อการบริหารจัดการอย่างต่อเนื่องต่อไป

กระบวนการแก้ไขและเยียวยา

        PPS มีมาตรการในการปกป้องและเยียวยาผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของบริษัทฯ ตามหลักสิทธิชุมชน โดยเปิดโอกาสให้ผู้ที่อาจได้รับผลกระทบสามารถแจ้งข้อร้องเรียนไปยังช่องทางต่างๆ ที่บริษัทฯ จัดขึ้น และกำหนดรูปแบบของการเยียวยาทั้งรูปแบบที่เป็นตัวเงิน จากการจ่ายเงินชดเชยหรือสนับสนุนเป็นเงินช่วยเหลือ และไม่ใช่ตัวเงิน จากการเสนอวิธีการแก้ไขหรือบรรเทาความเสียหายที่เหมาะสมและเป็นธรรมให้กับผู้เสียหายหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบ เพื่อตอบสนองต่อปัญหาที่เกิดขึ้น และสร้างความพึงพอใจแก่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ขั้นตอนการตรวจสอบข้อเท็จจริง

  1. ผู้รับข้อร้องเรียนหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมาย จะเป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบและรวบรวมข้อเท็จจริงหรืออาจมอบหมายให้บุคคลหรือหน่วยงานที่ไว้วางใจเป็นผู้ตรวจสอบข้อเท็จจริง

  2. ผู้รับข้อร้องเรียนหรือบุคคลที่ได้รับมอบหมายสามารถเชิญให้พนักงานคนหนึ่งคนใดมาให้ข้อมูล หรือขอให้จัดส่งเอกสารใดๆ ที่เกี่ยวข้องมาเพื่อการตรวจสอบหาข้อเท็จจริง

ขั้นตอนภายหลังการตรวจสอบข้อเท็จจริง

หากตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นความจริงบริษัทฯ จะดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. ในกรณีที่ข้อร้องเรียนเป็นเรื่องที่บริษัทฯ กระทำผิดกฎหมาย ข้อบังคับของบริษัท กฎ หรือ ระเบียบ ใดๆ ที่ออกโดยบริษัทฯ หรือจรรยาบรรณ หรือข้อกำหนดเกี่ยวกับจริยธรรมในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ หรือการกระทำอันทุจริตที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ผู้รับข้อร้องเรียนจะเสนอเรื่องพร้อมความเห็น และกำหนดแนวทางในการปฏิบัติที่ถูกต้องต่อผู้มีอำนาจดำเนินการของบริษัทฯ ให้พิจารณาดำเนินการ และในกรณีที่เป็นเรื่องสำคัญ เช่น เป็นเรื่องที่กระทบต่อชื่อเสียงภาพลักษณ์หรือฐานะทางการเงินของบริษัทฯ เรื่องที่ขัดแย้งกับนโยบายในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ หรือเกี่ยวข้องกับผู้บริหารระดับสูง ผู้พิจารณาเรื่องดังกล่าวจะเป็นคณะกรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคมหรือคณะกรรมการตรวจสอบ หรือคณะกรรมการบริษัทแล้วแต่กรณี

  2. ในกรณีที่ข้อร้องเรียนก่อให้เกิดความเสียหายต่อผู้ใดผู้หนึ่ง ผู้รับข้อร้องเรียนจะเสนอวิธีการแก้ไขหรือบรรเทาความเสียหายที่เหมาะสมและเป็นธรรมให้กับผู้เสียหาย