Skip to main content

ตอนที่ 8 – เรื่อง FOC มีเรื่อยๆ


เมื่อปี พ.ศ. 2546 รัฐบาลไทยได้รับเกียรติ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับชาติ APEC ขึ้นที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งคำว่า APEC นี้ ย่อมาจากคำว่า Asia Pacific Economic Community ในการประชุมระดับชาติครั้งนี้ มีท่านผู้นำจากหลายประเทศในภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ซึ่งหมายรวมถึงกลุ่มประเทศที่ตั้งอยู่ริมมหาสมุทรแปซิฟิกด้วย แล้วก็แน่ละ… ย่อมมีประเทศสหรัฐอเมริการวมอยู่ด้วย

รัฐบาลไทยจึงได้ถือโอกาสนี้เป็นการประชาสัมพันธ์ประเทศไทยไปในตัว เพราะในการประชุมครั้งนี้ ท่านผู้นำของแต่ละประเทศที่มาร่วมประชุมล้วนแล้วแต่เป็นบุคคลสำคัญๆ ระดับโลกทั้งสิ้น ได้แก่ ประธานาธิบดีบุช แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ประธานาธิบดีปูติน แห่งรัสเซีย นายกรัฐมนตรีโคอิซุมิ แห่งประเทศญี่ปุ่น และท่านผู้นำประเทศอื่นๆ อีกหลายท่าน นอกจากนี้ยังมีผู้นำด้านเศรษฐกิจและนักธุรกิจของแต่ละประเทศติดตามมาร่วมประชุมครั้งนี้ด้วยเป็นจำนวนมาก

ในการประชุมดังกล่าว รัฐบาลไทยได้ใช้หอประชุมที่สร้างขึ้นใหม่ในพื้นที่ของกองทัพเรือ บริเวณกรมอู่ทหารเรือ ใกล้กับโรงพยาบาลศิริราช วันที่กำหนดให้มีการประชุม คือวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2546 และเมื่อการประชุมเสร็จสิ้น รัฐบาลก็ได้จัดเลี้ยงอาหารค่ำให้แก่ผู้เข้าร่วมประชุม ที่สโมสรราชนาวิกสภา ซึ่งอยู่ติดกัน โดยใช้รถสามล้อเครื่อง หรือที่เราเรียกกันจนติดปากว่า… รถตุ๊กตุ๊ก… เป็นพาหนะในการรับท่านผู้นำและภรรยาของประเทศต่างๆ ไปส่งยังสโมสรฯ และในระหว่างการเลี้ยงอาหารค่ำรัฐบาลไทยก็ได้จัดให้มีการแสดงแสง สี เสียง ประกอบพิธีพยุหยาตราทางชลมารคจำลองขึ้น ซึ่งในการนี้ นายทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้ทำเรื่องของพระราชทานพระบรมราชานุญาต จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นกรณีพิเศษ เพื่ออวดความสวยงาม ตระการตาของกระบวนการแห่เรือดังกล่าว ให้บรรดาแขกผู้มีเกียรติจากต่างประเทศได้รับชม การแห่เรือครั้งนี้ได้ใช้พระบรมมหาราชวังเป็นฉากหลัง มีการจุดพลุไฟหลากหลายสีสันเป็นจำนวนมาก ทำให้เพิ่มความสวยงามและความตื่นตาตื่นใจขึ้นอีกมากมาย

การแสดงครั้งนี้ประสบความสำเร็จเกินความคาดหมาย และได้สร้างความประทับใจให้กับผู้ที่มีโอกาสได้รับชมอย่างไม่รู้ลืม ถึงความงดงาม และความยิ่งใหญ่อลังการตระการตา ของการแสดงดังกล่าว และเหล่าสื่อมวลชนจากหลายๆ ประเทศก็ได้เผยแพร่ภาพแห่งความงามนี้ไปทั่วโลก ซึ่งมีส่วนในการช่วยสร้างภาพพจน์ และประชาสัมพันธ์ ให้คนทั่วโลกได้รู้จักประเทศไทยมากขึ้น และเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวอีกทางหนึ่งด้วย

ผมได้รับการทาบทามจาก ผู้ช่วยรัฐมนตรีพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล (ตำแหน่งขณะนั้น) ให้ไปช่วยติดตามดูแล และเร่งรัดงานของรัฐบาลในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างต่างๆ เพื่อให้ทุกอย่างแล้วเสร็จให้ทันการประชุมระดับชาติที่กำหนดไว้ในวันที่ 21 ตุลาคม พ.ศ. 2546 ผมถือเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้มีโอกาส รับใช้ประเทศชาติในการทำงานระดับชาติในครั้งนี้ จึงได้ตกปากรับคำไปด้วยความยินดีและเต็มใจ แต่เมื่อผมได้เข้าไปช่วยทำก็พบว่า ผมคงจะไม่สามารถทำงานทั้งหมดได้แน่ หากเข้าไปดูอย่างละเอียดในทุกโครงการ จึงได้แต่ดูอยู่ห่างๆ ในภาพรวมในโครงการทั่วๆ ไป ซึ่งมีอยู่ประมาณ 10 โครงการ แต่โครงการที่น่าหนักใจที่สุด ก็คือ โครงการก่อสร้างหอประชุมของกองทัพเรือ ที่จะใช้ในการประชุมครั้งนี้ ซึ่งเรียกได้ว่า เป็นพระเอกของเรื่อง . . . นั่นเอง

ผมเข้าไปช่วยงานวันแรกคือ วันที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2546 ขณะนั้นอาคารเพิ่งเริ่มก่อสร้างอยู่ที่ระดับชั้นเสมอดิน ฐานบางส่วนยังไม่แล้วเสร็จ และเหลือเวลาอีกประมาณ 6 เดือน ที่จะดำเนินการให้สำเร็จเรียบร้อย วันที่ผมเข้าประชุมวันแรกนั้น บอกตามตรงว่า . . . ผมรู้สึกค่อนข้างอึดอัด เพราะตามสถานะของผมแล้ว เหมือนเป็นคนที่มาจากฝ่ายการเมือง ซึ่งผู้เข้าร่วมประชุมหลายท่าน อาจไม่แน่ใจในบทบาทที่ผมได้รับ แต่ก็ไม่กล้าแสดงออกมาเป็นคำพูด เพียงแต่บางท่านแสดงออกมาเป็นภาษากายบ้าง ซึ่งผมก็ทำไม่รู้ไม่ชี้เสีย ยึดเอาความบริสุทธิ์ใจเป็นที่ตั้งและในที่สุด . . . การประชุมครั้งนี้ก็ได้ทำให้ผมประทับใจมาก เนื่องจากก่อนที่จะเริ่มประชุม ได้มีผู้เข้ามาแสดงตัวเป็นลูกศิษย์และรุ่นน้อง และให้การทักทายผมอย่างอบอุ่น ทำให้บรรยากาศเปลี่ยนแปลงไปทันที ประกอบกับท่านผู้ใหญ่ของกองทัพเรือ ท่านได้เมตตาให้การต้อนรับผมเป็นอย่างดี ทั้งหมดนี้ คงจะเป็นด้วยอานิสงส์ของการเป็นอาจารย์พิเศษของผมกระมัง . . .

ผมเข้าไปช่วยแนะนำบ้างตามความรู้ที่มีอยู่อย่างจำกัด ฝ่ายก่อสร้างของกองทัพเรือ โดยการนำของพลเรือตรีฐนิธ กิตติอำพน ท่านได้เปลี่ยนวิธีการก่อสร้างโครงสร้างของหอประชุมดังกล่าว โดยทำเสาขึ้นไปถึงหลังคาทีเดียว เพื่อจะได้มุงหลังคาของหอประชุมก่อน จะได้ไม่ต้องกลัวฝน และในการบริหารงานครั้งนี้ได้ใช้วิธีการบริหารงานในระบบ CM ซึ่งเจ้าของงานทำ CM เอง กล่าวคือ เจ้าของงานจะช่วยในการบริหารจัดการงานเกือบทั้งหมด นอกเหนือจากการคุมงาน เช่น ช่วยในการวางแผนการทำงานอย่างมีระบบ เป็นต้น

ผมเข้าร่วมประชุมในโครงการนี้ประมาณ 2 สัปดาห์ต่อครั้ง เห็นมีอะไรพอแนะนำได้ก็ช่วยแนะนำไป หรือหากช่วยติดต่อใครได้บ้าง ก็ยินดีติดต่อให้ และเวลามีประชุมกับ สำนักนายกรัฐมนตรีและกระทรวงการต่างประเทศ เกี่ยวกับความก้าวหน้าของโครงการนี้ ก็จะช่วยด้านรายงานในฐานะคณะติดตามงาน และเมื่อมีคำถามว่า?หอประชุมจะเสร็จทันเวลาไหม?? ผมก็ได้ให้คำยืนยันว่า . . . ?เสร็จทันแน่นอนครับ? เพราะทหารกับวิศวกรคิดเหมือนกัน และมียุทธศาสตร์ในการดำเนินงานเหมือนกัน คือ มีเป้าหมายที่ชัดเจน มีการวางแผนให้เข้าสู่เป้าหมาย มีการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด

สุดท้ายก็คือ จะต้องมีแผนสำรองไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉินด้วย และในที่สุดงานก็ได้แล้วเสร็จโดยเรียบร้อย และทันตามกำหนดเวลา ด้วยความสามรถของคณะทำงานของกองทัพเรือ สำหรับผมไม่รู้จริงๆ ว่าได้ช่วยอะไรเขาไปบ้าง หรือมากน้อยแค่ไหน แต่ก็ดีใจและภูมิใจทุกครั้งที่ได้ยิน ท่านพลเรือโทฐนิธ กิตติอำพน พูดกับคนอื่นๆ ถึงผมว่า ?พี่สงค์…ช่วยเยอะ…? อ้อ! และเมื่อเสร็จงานนี้แล้ว ท่านได้เลื่อนตำแหน่งเป็น เจ้ากรมยุทธโยธาธิการ ทหารเรือ และยังได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่ง นายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ อีกตำแหน่งหนึ่งด้วย ขอแสดงความยินดีด้วย . . . ครับผม

อ่านเรื่องนี้จนจบแล้ว ท่านผู้อ่านทราบหรือยังครับว่า ?FOC? คืออะไร ถ้าไม่ทราบผมจะเฉลยให้ก็ได้ว่า ?FOC ก็หมายถึง Free Of Charge นั่นเองครับ?