Skip to main content

ตอนที่ 17 – กำแพงแสน


ผมตั้งหัวข้อของเรื่องนี้ขึ้น เพราะมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ได้โทรศัพท์มาเชิญผมไปเป็นอาจารย์พิเศษสอนเสริมในภาควิชาการบริหารงานก่อสร้าง ซึ่งเขาได้ทาบทามผมไว้นานแล้ว และผมก็เป็นคนประเภทเป็นโรค Say No Phobia คือ กลัวการปฏิเสธ และผมได้ตั้งปณิธานไว้นานแล้วว่า สำหรับสถาบันการศึกษาของรัฐที่ถือว่า เป็นงานสาธารณประโยชน์ที่ไม่หวังผลในเชิงพาณิชย์ ผมจะไม่ปฏิเสธหากสถาบันการศึกษาเหล่านั้นเรียกใช้

ผมอารัมภบทมาออกจะยืดยาว แต่อาจจะไม่ค่อยเกี่ยวข้องกับเรื่องที่จะเล่านักก็คือ มีผู้ประกอบกิจการก่อสร้างรายหนึ่ง ได้อ่านหนังสือ ?ประสบการณ์งานช่าง? ของผมแล้ว มีปัญหาขึ้นมาว่า ต้องการทำกำแพงห้องใต้ดิน ซึ่งจะต้องขุดดินลึกลงไปประมาณ 3 เมตร กำแพงที่ต้องสร้างนั้นอยู่ห่างจากอาคารเดิม เพียง 40 เซนติเมตร ปัญหาคือ ต้องทำการขุดดินอย่างไร จึงจะไม่สร้างความกระทบกระเทือน หรือความเสียหายให้กับอาคารเดิมที่อยู่ใกล้กัน และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างโครงสร้างชั่วคราว เพื่อป้องกันดินพังด้วย

ผมถามเขาว่า เขารู้จักผมได้อย่างไร เขาบอกว่า เขาได้อ่านเรื่อง ?วงกลมหกหมื่น? ซึ่งเป็นตอนหนึ่งในหนังสือ ?ประสบการณ์งานช่าง? ที่ผมเขียน ก็เลยอยากจะปรึกษาผมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวข้างต้น ผมได้ยินคำว่า ?วงกลมหกหมื่น? ก็เลยนึกไปถึงเรื่องที่คล้ายๆ กันนี้เรื่องหนึ่ง คือ มีอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยมหานครท่านหนึ่ง ถามผมว่า . . . วงกลมหกหมื่น แล้วสี่เหลี่ยมเท่าไร ผมก็ตอบไปว่า ?สี่เหลี่ยมฟรี?ครับ? พอมาคราวนี้ ผู้รับเหมาก่อสร้างท่านนั้นก็ถามผมว่า กำแพงเท่าไร ผมจึงตอบตามชื่อเรื่องไปว่า ?กำแพงแสน?

กล่าวคือ ค่าจ้างที่ต้องคิดหาทางว่าจะต้องสร้างกำแพงตามที่ผู้รับเหมาก่อสร้างต้องการ โดยมีโจทย์ดังกล่าวข้างต้นนี้ ผมขอคิดค่าที่ปรึกษาเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาทถ้วน ซึ่งเมื่อผู้รับเหมาก่อสร้างรายนี้ตกลง ผมก็ได้ให้คำปรึกษาไปโดยมีรายละเอียดดังนี้

อาคารที่ก่อสร้างเป็นอาคารคอนกรีตเสริมเหล็ก ตั้งอยู่ห่างจากทะเลประมาณ 300 เมตร พื้นที่จึงเทลาดลงไปยังทะเล และพื้นที่ 2 ด้านที่เขาต้องการจะทำกำแพงของห้องใต้ดิน จะต้องขุดดินลึก 3 เมตร ห่างจากอาคารเดิมประมาณ 40 เซนติเมตร ด้านที่ 3 อยู่ติดกับถนน ขุดทิ้ง Slope ตามธรรมชาติได้ ส่วนด้านที่ 4 ติดกับทางลาดขึ้นชั้น 2 (Ramp) ของอาคารเดิม สำหรับทางลาดนี้มีจุดสูงสุดประมาณ 4 เมตรจากพื้นดิน ซึ่งถ้าขุดลงไปอีก 3 เมตร จะรวมเป็นความสูงทั้งหมด 7 เมตร ด้านนี้ผมแนะนำให้เขาขุด Ramp ทิ้งทั้งหมด แล้วทำเหมือนด้านที่ 3 ส่วนด้านที่เป็นปัญหาอีก 2 ด้าน ซึ่งเขาคิดไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดี เพราะถ้าตอก Sheet Pile ก็แพง หรือจะ Grout ก็แพงเหมือนกัน ผมจึงแนะนำให้เขาขุดทรายบริเวณนั้นออกใส่ถุงปุ๋ยไว้ แล้วนำมาเรียงกันเป็นกำแพง แบบเดียวกับ Bunker ของทหาร หรือกระสอบทรายที่ชาว กทม. วางกั้นไว้เพื่อไม่ให้น้ำท่วมนั่นแหละครับ แต่การทำกำแพงดังกล่าวต้องมีเทคนิค นั่นคือ หากขุดดินอย่างธรรมดา ผนังก็จะพังลงมา ซึ่งผมก็ได้ทำแปลงทดลองกลางบ่อที่จะขุด ผลก็คือ ผนังพังลงมาจริงๆ แต่ผมได้เตรียมกระสอบทรายไว้แล้ว และให้นำกระสอบทรายนั้น เรียงลงไปโดยทำเป็น Trench แคบๆ เป็นช่องๆ โดยขุดดินให้ลึก 1.50 เมตร ก่อน แล้วจึงเรียงกระสอบทรายทำเป็น Bunker แล้วขุดให้กระสอบที่เรียงแล้ว โดยทำเสร็จทีละช่อง แต่ต้องระมัดระวังเป้นอย่างยิ่งและต้องควบคุมดูแลโดยใกล้ชิด ดินหลังผนังก็จะไม่พัง เพราะติดกระสอบทรายที่เรียงไว้ ทำหน้าที่เป็น Gravity Wall งานนี้จึงจะประสบผลสำเร็จ . . .

ต่อมาภายหลังผมได้เอาเทคนิคนี้ไปบรรยายเชิงประสบการณ์ให้กับสถานศึกษาหลายแห่ง ผู้เข้าฟังฟังแล้ว มากระซิบบอกกับผมว่า . . .คราวต่อไป อาจารย์อย่าเป็นเปลี่ยน ?กำ แ พ ง เ พ ช ร? นะครับ?!