Skip to main content

ตอนที่ 16 – พิมพ์บัว


องค์ประกอบของอุตสาหกรรมทุกชนิดที่เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์ ไม่เว้นแม้แต่อุตสาหกรรมการก่อสร้าง ประกอบด้วยวัสดุ (Material) แรงงาน (Man Power) เครื่องจักรเครื่องมือ (Machine) เงิน (Money) และกระบวนการผลิต หรือวิธีการก่อสร้าง (Method)กรณีที่เป็นอุตสาหกรรมก่อสร้าง เมื่อนำสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ มาผ่านกระบวนการผลิตหรือวิธีการก่อสร้างที่ถูกต้อง มีการควบคุมกำกับดูแลทุกขั้นตอน ตั้งแต่ปัจจัยการผลิต ตลอดจนกระบวนการผลิตแล้ว ก็จะได้ชิ้นงานหรือผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพตามมาตรฐาน มีความถูกต้องสมบูรณ์ตามที่ได้ตกลงกับลูกค้าไว้ ยิ่งถ้าได้ตามที่ลูกค้าคาดหวังไว้ ก็ถือว่าทำงานได้อย่างประสบผลสำเร็จ ช่างของไทยบางคนมีฝีมือดีมาก แต่น่าเสียดายที่เครื่องมือและอุปกรณ์ไม่พร้อม ทำให้ไม่สามารถทำงานได้ดีเท่าผู้ที่มีเครื่องมือเครื่องไม้สมบูรณ์ ตัวอย่างง่าย ๆ เช่น การตัดกระเบื้องเพื่อเข้ามุม ถ้าช่างไม่มีเครื่องมือที่ดี ก็คงจะต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ไปตามมีตามเกิด กระเบื้องที่ได้ก็จะไม่สวยงามเท่าที่ควร เพราะอาจจะมีทั้งแตก บิ่น หรือร่อยได้ หรือในการขัดมันพื้นคอนกรีตนั้น ส่วนใหญ่แล้วจะต้องมีการเทปูนทรายทับอีกทีหนึ่ง จึงจะทำได้เรียบพอสมควร ถ้าให้ช่างขัดมันโดยไม่ต้องเทปูนทราย ก็จะเป็นเรื่องที่ช่างส่วนใหญ่มักจะบอกว่า .. ทำไม่ได้ .. แต่ในปัจจุบัน (2543) เรื่องขัดมันพื้นคอนกรีตให้เรียบเหมือนกับมีการเทปูนทรายทับนั้นเป็นเรื่องที่ไม่ลำบากยากเย็น เพราะเครื่องมือที่ใช้ในการขัดมัน ได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นมากและทัศนคติของผู้ที่ทำงานก็ดีขึ้นด้วยเช่นกันในสมัยที่พื้นอาคารยังทำได้ไม่ค่อยเรียบนั้น ผู้ออกแบบมักจะออกแบบช่วยโดยกำหนดให้มีบัวเชิงผนังเพื่อปิดทับ รอยต่อระหว่างพื้นกับผนัง และเป็นการป้องกันการเปรอะเปื้อนเวลาทำความสะอาดพื้นด้วยการนำไม้บัวเชิงผนังมาปิดทับรอยต่อของพื้นนั้น จะเกิดปัญหาบ้างเล็กน้อย ถ้าพื้นนั้นไม่เรียบ ช่างสมัยก่อน จะให้วิธีพิมพ์ไม้ โดยนำไม้ที่จะนำมาทำบัวเชิงผนังมาวางทาบตามตำแหน่งที่จะติดตั้ง โดยยกสูงขึ้นจากพื้นประมาณ 10 เซนติเมตร แล้วเอาดินสอมัดติดกับไม้อีกชั้นหนึ่ง ให้ตั้งฉากกัน แล้วลากไม้ไปตามตำแหน่งที่จะติดตั้งดินสอก็จะเลื่อน ขึ้น ลง ตามลักษณะของพื้นที่ไม่เรียบ ปลายดินสอ ก็จะขีดลากไป ตามส่วนล่างของไม้บัว แล้วช่างจึงจะไสไม้ไปตามรูปนั้น เมื่อวางไม้บัวเชิงผนังลงมาตามตำแหน่ง ที่จะติดตั้ง บัวก็จะแนบกับพื้นพอดี วิธีนี้เป็นภูมิปัญญาของช่างไทยโบราณ ซึ่งยังมีใช้อยู่บ้างประปราย สำหรับช่างที่สูงอายุ แต่สำหรับช่างสมัยใหม่นั้น สงสัยจะไม่รู้จักคำ ๆ นี้แล้วล่ะครับ