Skip to main content

ตอนที่ 24 – เข็มยาวไม่เท่ากัน


ในช่วงเทศกาลปีใหม่ จะมีช่างเทคนิคคนหนึ่งมาหาผมเป็นประจำเป็นการสม่ำเสมอทุกปี ช่างเทคนิคผู้นี้เป็นผู้ที่ผมมีความชื่นชมในตัวของเขาเป็นอย่างมาก เพราะอดีตเขาเคยเป็นเด็กที่มีความขัดสนและได้พยายามต่อสู้กับชีวิตอันยากลำบากด้วยตนเองมาตลอด จากการทำงานเป็นคนงานช่างไฟฟ้า ซึ่งขณะนั้นผมเป็นผู้จัดการโครงการอยู่ และเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จก็อยู่ในช่วงของการบำรุงรักษาอาคาร เจ้าของโครงการได้ติดต่อให้ผมรับหน้าที่เป็น “วิศวกรหัวหน้าฝ่ายบำรุงรักษา” หรือที่เรียกง่าย ๆ ว่า “ภารโรงประจำตึกนั่นเอง ตอนนั้นผมรู้สึกเหมือนวิศวกรหนุ่มไฟแรงผู้หยิ่งผยองทั่ว ๆ ไปว่างานนี้เป็นงานที่ไม่ท้าทายความสามารถเอาเสียเลย ผมจึงได้ปฏิเสธงานนี้ไป (แต่ถ้าเป็นตอนนี้ผมจะไม่ปฏิเสธอย่างแน่นอน) ซึ่งผมก็ได้ฝากช่างเทคนิคไฟฟ้าคนหนึ่งไว้ที่หน่วยงานบำรุงรักษาอาคารด้วย ซึ่งช่างเทคนิคผู้นั้นก็คือผู้ที่ผมกล่าวถึงในตอนแรกนั่นเอง

ช่างคนนี้ได้ทำงานที่ตึกนั้นเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันนี้ (ตั้งแต่ประมาณพ.ศ. 2517- 2543) และเขาก็สามารถก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจนสามารถเป็นเจ้าของบ้านราคาหลายล้านบาท ต่อมาเขาเกิดความรู้สึกว่าบ้านของเขานั้นค่อนข้างคับแคบไปหน่อย ไม่สมกับสภาพครอบครัวที่โตขึ้น เขาจึง่ต่อส่วนครัวออกไปจากบ้านหลังใหญ่โดยเขาได้ติดต่อให้ช่างรับเหมาเป็นผู้จัดการให้ทุกอย่าง ปรากฏว่าในส่วนของครัวที่จะต่อเติมใหม่ไม่สามารถตอกเข็มด้วยปั้นจั่นได้ ช่างจึงใช้สามเกลอตอกเข็มยาวประมาณ 6 เมตร ต่อมาเขาได้มีโอกาสสอบถามความยาวของเข็มที่ใช้สร้างบ้านหลังใหญ่ได้ความว่า ใช้เข็มยาวประมาณ 18 เมตร เขาจึงมาปรึกษาผม ซึ่งก็สายไปเสียแล้วเพราะงานต่อเติมดังกล่าวได้แล้วเสร็จเรียบร้อยไปแล้ว ผมจึงว่าเป็นที่น่าเศร้ามากที่อาคารหลังเดียวกัน แต่ใช้เสาเข็มยาวไม่เท่ากัน ซึ่งก่อให้เกิดผลเสียหายมานักต่อนักแล้วในอดีตและไม่น่าจะเกิดขึ้นอีก แต่ก็ยังมีให้พบเห็นกันอยู่ทั่วไป ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบนั้นอาจจะไม่พบในลักษณะที่ความยาวของเข็มไม่เท่ากันในอาคารเดียวกันแต่อาจจะพบในลักษณะของบ้านพักอาศัยที่ตัวบ้านใช้เข็มยาวส่วนรั้วใช้เข็มสั้น แต่สร้างติดกันทำให้เกิดการทรุดตัวไม่เท่ากันในระยะของส่วนตัวบ้านและรั้วทำให้ทรุดฉุดตัวบ้านลง

ในกรณีที่ว่านี้ถ้าทิ้งไว้ระยะหนึ่งจะเห็นผล คือ ส่วนครัวที่ใช้เข็มสั้นมีการทรุดตัวมากกว่าบ้านหลังใหญ่ ซึ่งใช้เข็มยาวจะฉุดตัวบ้านใหญ่ให้ทรุดลงไปด้วย ซึ่งเรื่องเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นเป็นอันขาด ถ้าได้มีการปรึกษาวิศวกรผู้มีความชำนาญก่อนลงมือ?!